สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ADVANCE SEARCH

Tags :
Crowdfunding
ค้นหา

การออกหุ้นกู้ Crowdfunding

ช่องทางระดมทุนในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นการระดมเงินทุนจากคนหมู่มากผ่าน “ช่องทางออนไลน์”

05.08.2021 Share on :

หากท่านต้องการกู้ยืมเงินจากผู้ลงทุน
ให้การเสนอขาย “หุ้นกู้” ผ่านช่องทาง Crowdfunding เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของท่าน

ท่านสามารถออกหลักทรัพย์ประเภท “หุ้นกู้” เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนผ่านช่องทาง Crowdfunding ได้ โดยการเสนอขายหุ้นกู้ผ่านช่องทาง Crowdfunding ท่านผู้ระดมทุนจะถือเป็น “ลูกหนี้” ของผู้ที่นำเงินมาลงทุน ในทางกลับกันผู้ลงทุนก็จะถือเป็น “เจ้าหนี้” ของท่านผู้ระดมทุนนั่นเอง ซึ่งท่านผู้ระดมทุนก็จะต้องให้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยและคืนเงินต้นให้แก่ผู้ลงทุนเมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ และถึงแม้ว่าผู้ที่ลงทุนในหุ้นกู้นี้จะไม่มีสิทธิในการบริหารจัดการ แต่ก็มีสิทธิฟ้องร้องให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากท่านผู้ระดมทุนผิดนัดไม่จ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยตามสัญญาที่ให้ไว้ตอนเสนอขายหุ้นกู้  

“Crowdfunding” คืออะไร

คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) เป็นวิธีระดมทุนในรูปแบบหนึ่ง ที่ระดมเงินทุนจากคนหมู่มากผ่าน “ช่องทางออนไลน์” โดยมีสิ่งตอบแทนที่หลากหลาย เช่น การบริจาคเงินได้ความสุขใจเป็นสิ่งตอบแทน การช่วยสนับสนุนคนที่มีไอเดียใหม่ ๆ ได้สินค้าที่ทดลองผลิตเป็นสิ่งตอบแทน หรือบางครั้งอาจได้หุ้น หรือหุ้นกู้ ของบริษัทเป็นสิ่งตอบแทน เป็นต้น 

ถ้ากิจการจะให้หุ้นกู้เป็นสิ่งตอบแทนแก่ผู้ลงทุน กิจการจะต้องได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นกู้จาก ก.ล.ต. ก่อน และต้องเสนอขายผ่าน “เว็บไซต์ตัวกลาง” หรือ funding portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. จึงจะระดมเงินทุนได้ เนื่องจากหุ้นกู้เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง การระดมทุนประเภทนี้เรียกว่า Investment Based Crowdfunding

กิจการที่ระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง  กิจการจะมีสถานะเป็นลูกหนี้ของผู้ลงทุน ที่จะต้องชำระเงินต้น และดอกเบี้ย ให้กับผู้ลงทุนตามที่กำหนด แต่ไม่เสียสูญเสียความเป็นเจ้าของให้แก่ผู้ลงทุน

ใครระดมทุนแบบหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงได้
หากกิจการท่านเป็น 

  • บริษัทจำกัดที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย หรือ
  • บริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งตามกฎหมายไทย และไม่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ
  • บริษัทที่ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (holding company) ที่ต้องการนำเงินที่ได้ไปใช้ในการดำเนินงานหรือโครงการของบริษัทที่ holding company นั้นถือหุ้นเกิน 50% ได้
  • และมีวัตถุประสงค์การใช้เงินชัดเจน เช่น ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ทำโครงการใหม่ หรือเพื่อชำระหนี้ (refinance)

กิจการท่านสามารถระดมทุนได้จากใคร ? จำนวนเท่าไหร่ ?

เนื่องจากกิจการที่ต้องการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง มักจะเป็นกิจการที่มีโอกาสเติบโต แต่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นหรือเป็นโครงการใหม่ จึงยังมีความไม่แน่นอนระดับหนึ่ง ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลงทุนให้ลงทุนเหมาะสมกับความรู้ ประสบการณ์การลงทุนที่มี จึงแบ่งผู้ลงทุนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 

  1. ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลทั่วไป สามารถลงทุนแบบคราวด์ฟันดิง ได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อบริษัท และมูลค่าเงินลงทุนรวมไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้) เพื่อให้ผู้ลงทุนกระจายการลงทุนในแต่ละบริษัทไม่มากจนเกินไป และเพื่อให้บริษัทไม่ระดมทุนจากผู้ลงทุนกลุ่มนี้มากเกินไป จึงกำหนดวงเงินระดมทุนไว้ โดยในปีแรก บริษัทจะระดมเงินทุนได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท และในปีถัดไปสามารถระดมเงินทุนเพิ่มได้ แต่ตลอดทั้งโครงการ จะต้องระดมทุนไม่เกิน 40 ล้านบาท (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้)
  2. ผู้ลงทุนที่มีความรู้ ประสบการณ์การลงทุน ซึ่งได้แก่
  • ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investors หรือ “II” ) เช่น สถาบันการเงิน ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกัน เป็นต้น
  • กิจการเงินร่วมลงทุน  (Private Equity หรือ “PE”) เป็นธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น แสวงหาและร่วมลงทุนกับกิจการประเภทสตาร์ทอัพที่น่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงในอนาคต
  • นิติบุคคลร่วมลงทุน  (Venture Capital หรือ “VC”) เป็นกลุ่มคนที่มีเงินทุนและเชี่ยวชาญด้านการลงทุนหรือเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนแสวงหาผลตอบแทน ซึ่ง VC มักจะลงทุนในกิจการที่มีแนวโน้มเติบโตสูงและยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
  • ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Qualified Investors) เป็นผู้ที่มีทรัพย์สิน หรือรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มีทรัพย์สินรวมมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท หรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น

สำหรับวงเงินระดมทุน ของผู้ลงทุนในกลุ่มนี้ จะไม่จำกัด เนื่องจากมีประสบการณ์ในการลงทุน มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือให้คำปรึกษาเพื่อบ่มเพาะพัฒนาธุรกิจ และ/หรือ มีฐานะทางการเงินที่ดี จึงน่าจะสามารถตัดสินใจ และรับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง

“สรุปว่า ผู้ที่ระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิงนี้จะระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนที่ไม่ใช่รายย่อยได้อย่างไม่จำกัดจำนวน แต่หากต้องการระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนรายย่อย ในปีแรกจะระดมเงินทุนได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท และสามารถระดมเงินทุนเพิ่มได้ในปีถัดไป แต่ตลอดทั้งโครงการจะระดมทุนได้ไม่เกิน 40 ล้านบาท (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้)”

กรณีหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง หากระดมทุนได้ไม่น้อยกว่า 80 % ของวงเงินเสนอขาย ผู้ระดมทุนสามารถรับเงินลงทุนไปดำเนินโครงการได้ โดยต้องออกหุ้นกู้ให้แก่ผู้ลงทุนตามสัดส่วนที่ลงทุน แต่หากระดมทุนได้น้อยกว่า 80% จะต้องยกเลิกการระดมทุนและคืนเงินให้แก่ผู้ลงทุน  (ซึ่งต่างจากการระดมทุนแบบหุ้นคราวด์ฟันดิง ซึ่งหากระดมทุนไม่ได้ครบตามที่กำหนด จะต้องยกเลิกการระดมทุน) 

บทบาทผู้ที่เกี่ยวข้องกับ Crowdfunding

เพื่อให้การระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง มีกลไกในการคุ้มครองผู้ลงทุน ในขณะเดียวกันก็อำนวยความสะดวกให้กิจการที่เป็น SMEs และ Startup สามารถระดมทุนได้โดยไม่สร้างภาระในการเปิดเผยข้อมูลเกินจำเป็น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงได้สร้างกลไกในการระดมทุนแบบคราวด์ฟันดิง ดังนี้ 

Funding Portal 

คือผู้ที่ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” ในการระดมทุนผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิงที่ทำให้ผู้ระดมทุนพบกับผู้สนใจลงทุน ในรูปแบบเว็บไซต์ตัวกลาง โดย Funding Portal จะเป็นผู้ช่วยหลักในการเตรียมความพร้อมให้กับกิจการที่ต้องการระดมทุนผ่านช่องทางคราวด์ฟันดิง โดยมีหน้าที่หลักคือ

  1. ศึกษาข้อมูลและสอบทานความมีตัวตนในกิจการ รวมทั้งประเมินความน่าเชื่อถือและระดับความเสี่ยงของกิจการ ในกรณีที่เป็นการเสนอขายหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง Funding Portal จะมีการประเมินระดับความเสี่ยงของหุ้นกู้ (credit scoring) เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเปรียบเทียบกับผลตอบแทน (ดอกเบี้ย) ที่ผู้ระดมทุนเสนอ
  2. สนับสนุนให้กิจการ สามารถเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนได้อย่างชัดเจน ถูกต้อง และ เข้าใจง่าย รวมทั้งให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
  3. คัดกรองและแยกประเภทผู้ลงทุน รวมถึงให้ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้ลงทุน โดยหากเป็นผู้ลงทุนรายย่อย  Funding Portal จะมีแบบทดสอบความรู้ก่อนลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจและรับทราบความเสี่ยง

โดยท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อของ Funding Portal ได้ที่นี่ : รายชื่อ Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

ผู้เก็บรักษาเงินค่าจองซื้อ 

เนื่องจากช่วงการเสนอขายหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง มักจะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน (ระยะเวลาการเสนอขาย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น มูลค่าเสนอขาย การเข้าถึงผู้ลงทุน เป็นต้น) ซึ่งเมื่อผู้ลงทุนจะโอนเงินค่าจองซื้อเข้ามาในระหว่างการจองซื้อ จึงจำเป็นต้องมีกลไกที่จะเชื่อมั่นได้ว่าเงินของผู้ลงทุนจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัย จึงมีผู้เก็บรักษาเงินค่าจองซื้อ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามที่มีความน่าเชื่อถือ มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง และมีหน่วยงานกำกับดูแล เช่น บริษัทหลักทรัพย์ หรือ ธนาคาร เป็นต้น ทำหน้าที่เก็บรักษาเงินลงทุน โดยเมื่อระดมทุนสำเร็จ ผู้ระดมทุนจะต้องออกหุ้นกู้ให้ผู้ลงทุน จึงได้รับเงิน หรือกรณีที่ระดมทุนไม่สำเร็จ (ระดมทุนได้น้อยกว่า 80% ของวงเงินที่เสนอขาย) ผู้ลงทุนจะได้รับเงินคืน 

ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้

ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุน โดยในกรณีหุ้นกู้มีประกัน จะทำหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกัน และหากมีการผิดนัดชำระหนี้ จะจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเรียกให้บริษัทผู้ระดมทุนมาชำระหนี้ บังคับหลักประกัน (ถ้ามี) และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้

สำนักงาน ก.ล.ต.

ทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบ Funding Portal ที่มีระบบงานที่ครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากคุณสมบัติต่าง ๆ ได้แก่ ระบบงานที่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจ และฐานะทางการเงิน รวมทั้งความเหมาะสมเกี่ยวกับการควบคุมและการปฏิบัติงานของธุรกิจ เป็นต้น  

นอกจากนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ยังให้ความเห็นชอบผู้เก็บรักษาค่าจองซื้อ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการทำธุรกรรมระหว่างผู้ลงทุน ผู้ระดมทุน และ Funding Portal อีกด้วย

(อย่างไรก็ดี คราวด์ฟันดิงบางประเภทที่ไม่ใช่การเสนอขายหลักทรัพย์ จะไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. เช่น คราวด์ฟันดิงในลักษณะการรับบริจาค (Donation-based Crowdfunding) คราวด์ฟันดิงที่ได้รับสิ่งของตอบแทน (Reward-based Crowdfunding) หรือคราวด์ฟันดิงในลักษณะกู้ยืม (Lending-based Crowdfunding หรือ Peer-to-Peer Lending) ซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย) 

ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการระดมทุน และเอกสารที่ใช้ในการสมัคร

  1. ระยะเวลา: ประมาณ 1-4 สัปดาห์ในการตรวจสอบโครงการ และ 30-90 วันในการระดมทุน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับFunding Portal กำหนด
  2. ค่าใช้จ่าย: ประมาณ 5-10% ของวงเงินระดมทุน (ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ Funding Portal)
  3. เอกสารประกอบการสมัคร: เอกสารรับรองบริษัท, งบการเงินของบริษัท และแผนธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ อาจมีเอกสารอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ Funding Portal

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ฝ่ายส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงิน สำนักงาน ก.ล.ต.

โทรศัพท์ 0-2263-6524 และ 0-2033-9753

https://www.sec.or.th/crowdfunding

 

Link 1: รายชื่อ Funding Portal ที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.

Link 2: กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง