สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ADVANCE SEARCH

Tags :
Crowdfunding
ค้นหา

การออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture)

หุ้นกู้ที่ให้สิทธิแก่ผู้ลงทุน ในการแปลงสถานะจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของร่วมในกิจการได้ในอนาคต

Share on :

หากท่านเป็นผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในรูปแบบของ “บริษัทจำกัด” และมีความต้องการเงินทุนเพื่อขยับขยายหรือต่อยอดกิจการ ท่านสามารถเลือกใช้วิธีการระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ด้วยการเสนอขาย “หุ้นกู้แปลงสภาพ” (Convertible Debenture) เพื่อระดมเงินทุนจากผู้ที่มีเงินหรือผู้ลงทุน “ในวงจำกัด” หรือที่เรียกว่า “Private Placement (PP)” ได้โดยไม่ต้องยื่นคำขออนุญาตหรือแบบแสดงรายการข้อมูลที่เรียกว่า“Filing" (ไฟล์ลิ่ง) ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.

“หุ้นกู้” และ “หุ้นกู้แปลงแปลงสภาพ” คืออะไร ? และ มีความแตกต่างกันอย่างไร ?

“หุ้นกู้” คือ ตราสารทางการเงินชนิดหนึ่งที่ผู้ต้องการเงินทุนซึ่งเป็นบริษัทเอกชน ออกให้กับผู้ลงทุน โดยเสนอผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยให้แก่ผู้ลงทุนภายในระยะเวลาตามที่กำหนด โดยบริษัทผู้ออกหุ้นกู้จะอยู่ในฐานะของ “ลูกหนี้” ของผู้ลงทุน และในทางกลับกันผู้ลงทุนก็จะอยู่ในฐานะของ “เจ้าหนี้” ซึ่งบริษัทผู้ออกหุ้นกู้มีหน้าที่ต้องนำเงินมาใช้คืนผู้ลงทุนเต็มจำนวนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามที่ระบุไว้ในสัญญา ในทางกลับกันหากบริษัทมีการเลิกกิจการ บริษัทจะต้องชำระหนี้หุ้นกู้คืนให้แก่ผู้ลงทุนซึ่งอยู่ในฐานะของเจ้าหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น ๆ

ส่วน “หุ้นกู้แปลงสภาพ” ก็จะมีสาระสำคัญเช่นเดียวกันกับ “หุ้นกู้” แต่จะมีส่วนสำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามาในเรื่องของการ “แปลงสภาพ” ซึ่งถือเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ลงทุนที่จะสามารถเลือกได้ว่า เมื่อถึงเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพ จะเลือกรับชำระหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนจากบริษัท หรือ เลือกที่จะใช้สิทธิ “แปลงสภาพ” จากผู้ถือหุ้นกู้ไปเป็น “ผู้ถือหุ้นสามัญ” หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น ๆ แทน ซึ่งหากผู้ลงทุนเลือกที่จะใช้สิทธิแปลงสภาพ ก็จะแปลงฐานะของตนเองจากเดิมคือ “เจ้าหนี้” ไปเป็น “เจ้าของร่วม” กับเจ้าของบริษัทผู้ออกหุ้นกู้แปลงสภาพในทันที และสัดส่วนของความเป็นเจ้าของกิจการในบริษัทนั้น ๆ ก็จะถูกแบ่งไปให้แก่ผู้ลงทุนที่ใช้สิทธิแปลงสภาพไปเป็นผู้ถือหุ้นนั่นเอง 

ดังนั้นเจ้าของกิจการที่เลือกระดมทุนด้วยวิธีนี้ แม้จะเริ่มต้นกระบวนการระดมทุนในลักษณะของการกู้ยืมเงินจากผู้ลงทุน แต่ในเมื่อหุ้นกู้แปลงสภาพนั้นมีสิทธิในการเปลี่ยนจาก “เจ้าหนี้” ให้กลายมาเป็น “เจ้าของ” แฝงอยู่ด้วย เจ้าของกิจการจึงต้องวางแผนเพื่อรับมือกับการที่อาจจะมีผู้ลงทุนเข้ามาเป็นเจ้าของร่วมในกิจการของตนเองเพิ่มขึ้นเมื่อถึงเวลาด้วยเช่นกัน

ระดมทุนจากใครได้บ้าง ?

การเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพ จะต้องเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุน “ในวงจำกัด” เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่ทุกคนที่เราจะเสนอขายให้ได้ แต่จะต้องเป็นผู้ลงทุนที่เข้าเงื่อนไขตามประกาศของสำนักงานเท่านั้น ซึ่งได้แก่ 

  • ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investors หรือ “II” ) เช่น สถาบันการเงิน ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกัน เป็นต้น
  • กิจการเงินร่วมลงทุน  (Private Equity หรือ “PE”) เป็นธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น แสวงหาและร่วมลงทุนกับกิจการประเภทสตาร์ทอัพที่น่าสนใจและมีแนวโน้มที่จะเติบโตสูงในอนาคต
  • นิติบุคคลร่วมลงทุน  (Venture Capital หรือ “VC”) เป็นกลุ่มคนที่มีเงินทุนและเชี่ยวชาญด้านการลงทุนหรือเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนแสวงหาผลตอบแทน ซึ่ง VC มักจะลงทุนในกิจการที่มีแนวโน้มเติบโตสูงและยังไม่ได้จดทะเบียนเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
  • ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (Qualified Investors) เป็นผู้ที่มีทรัพย์สิน หรือรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น มีทรัพย์สินรวมมูลค่ามากกว่า 50 ล้านบาท หรือมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป เป็นต้น
  • กรรมการและพนักงานของกิจการ ไม่ว่าจะเป็นกรรมการและพนักงานของบริษัทหรือบริษัทย่อย ทั้งนี้รวมถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อถือหุ้นแทนกิจการ สำหรับการจัดสรรหุ้นให้แก่กรรมการและพนักงานอีกด้วย

ระดมทุนได้เท่าไหร่

SME สามารถระดมทุนจากผู้ลงทุนข้างต้นได้อย่าง ไม่จำกัดวงเงินระดมทุน แต่ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ลงทุนและความสมเหตุสมผลของการนำเงินไปดำเนินธุรกิจ เนื่องจากผู้ลงทุนกลุ่มนี้มีประสบการณ์ในการลงทุน มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือให้คำปรึกษาเพื่อบ่มเพาะพัฒนาธุรกิจ และ/หรือ มีฐานะทางการเงินที่ดี จึงน่าจะสามารถตัดสินใจ รวมถึงพิจารณารับความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง

เว้นแต่ หากท่านเป็น SME ขนาดกลาง จะสามารถระดมเงินทุนจาก “ผู้ลงทุนรายบุคคลทั่วไป” เพิ่มได้อีก 1 ประเภท แต่จะต้องไม่เกิน 10 ราย และเมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 20 ล้านบาท

แล้วธุรกิจ SME แบบไหนบ้างที่สามารถระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัดได้ ? 

  1. เป็นธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็น “บริษัทจำกัด”
  2. เป็น SME (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ตามนิยามของ สสว. ซึ่งได้แก่

        2.1 SME ขนาดเล็ก (S)

  • ภาคการผลิต : จ้างงานไม่เกิน 50 คน / รายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อปี
  • ภาคการค้าและการบริการ : จ้างงานไม่เกิน 30 คน / รายได้ไม่เกิน  50 ล้านบาทต่อปี

        2.2 SME ขนาดกลาง (M)

  • ภาคการผลิต : จ้างงานไม่เกิน 51-200 คน / รายได้เกิน 100 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี
  • ภาคการค้าและการบริการ : จ้างงานไม่เกิน 30-100 คน /  รายได้เกิน 50 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 300 ล้านบาทต่อปี

ท่านสามารถศึกษานิยามผู้ลงทุนข้างต้นได้ที่ คลิก

ก่อนการเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพนั้น SME ผู้ระดมทุน ต้องจัดทำ “Factsheet” หรือ “เอกสารข้อมูลสรุปที่อธิบายเกี่ยวกับลักษณะการประกอบธุรกิจ ความเสี่ยงและข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง” เพื่อให้ข้อมูลสำคัญที่จะทำให้ผู้ลงทุนเข้าใจข้อมูลในกิจการของเรามากยิ่งขึ้น โดยใน Factsheet นั้นจะต้องประกอบไปด้วยข้อมูลหลัก 5 ส่วน ได้แก่

  • บริษัทของเราประกอบธุรกิจอะไร (ข้อมูลบริษัท) 
  • เราต้องการนำเงินไปทำอะไร (วัตถุประสงค์)
  • ข้อมูลทางการเงินของบริษัทเราเป็นอย่างไร
  • บริษัทเรามีความเสี่ยงอะไรในการประกอบธุรกิจบ้าง
  • ข้อมูลหลักทรัพย์ที่จะเสนอขาย

ดาวน์โหลดเอกสารจัดทำ Factsheet ได้ที่ : http://capital.sec.or.th/webapp/nrs/data/8417s.pdf

อยากระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัด (“PP”) ต้องทำอย่างไรบ้าง

“การระดมทุนด้วยวิธีการเสนอขายหุ้นและหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัด หรือ Private Placement (PP) ถือเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมีสำนักงาน ก.ล.ต เป็นผู้กำกับดูแล สำนักงานจึงออกหลักเกณฑ์รองรับการระดมทุนในรูปแบบเฉพาะเจาะจงของ SME โดยเน้นหลักการกำกับดูแลที่ต้องไม่สร้างภาระและต้นทุนแก่บริษัทมากเกินไป ในขณะเดียวกันยังคงต้องคำนึงถึงกลไกการคุ้มครองผู้ลงทุนด้วย”